หนึ่งในความกังวลใจของคนเลี้ยงน้องหมาน้องแมว คือ บางครั้งเราไม่รู้ว่าพวกเขากำลังป่วยหรือต้องการความช่วยเหลือ เพราะเขาไม่สามารถสื่อสารกับเราผ่านคำพูดโดยตรงได้ หรือบางตัวป่วยแล้วยังคงร่าเริงและไม่แสดงอาการใด ๆ ให้เรารับรู้เลย แม้ว่าสัตว์เลี้ยงของเราจะบอกไม่ได้ว่าพวกเขาป่วย แต่คุณพ่อคุณแม่แบบเราสามารถสังเกตอาการและสัญญาณที่บ่งบอกว่าน้องป่วยได้นะ ซึ่งวันนี้อะพอลโลได้รวบรวมสัญญาณที่บอกว่าน้องหมาน้องแมวของเราป่วยมาฝากกันในบทความนี้ค่ะ
สัญญาณของแมวป่วยหรือสุนัขป่วย
เมื่อเราใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงมาก ๆ ย่อมต้องรู้จักพฤติกรรมของพวกเขาเป็นอย่างดี แน่นอนว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างเกิดขึ้นนั่นอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าน้องหมาน้องแมวของเรากำลังป่วย โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อาจมาจากพฤติกรรมที่เคยเป็นกิจวัตเปลี่ยนแปลงไป อารมณ์ผิดปกติ หรือการเคลื่อนไหวร่างกายไม่เหมือนเดิม ต่อไปจะเป็น 10 สัญญาณที่พบบ่อย เมื่อน้องหมาน้องแมวป่วยที่เรานำมาฝากกันค่ะ
10 สัญญาณที่พบบ่อย เมื่อแมวหรือสุนัขของเราป่วย
ความอยากอาหารลดลงพร้อมกับการลดน้ำหนัก
ธรรมชาติของสัตว์เลี้ยงจะรู้ดีใจเมื่อเห็นอาหาร หรือมีความต้องการอาหารมากเป็นปกติ เมื่อพวกเขามีความอยากอาหารลดลง นั่นจึงเป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้ชัดเจนว่าสัตว์เลี้ยงของเรากำลังมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น หากเราลองนำขนมสุดโปรดของพวกเขามาให้แต่ไม่ค่อยมีการตอบกลับให้สันนิษฐานได้ว่าพวกเขากำลังป่วยจริง ๆ ควรพาไปหาหมอ
มีกลิ่นปาก หรือมีกลิ่นเหม็นออกมาจากหูหรือผิวหนัง
กลิ่นเป็นสัญญาณที่บ่งบอกให้เรารับรู้ถึงอาการป่วยได้ดี หากน้องหมาน้องแมวของเรามีกลิ่นปาก หรือมีกลิ่นเหม็นจากหูแสดงว่าพวกเขาอาจติดเชื้อราในหู ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวด คัน บวม แดง และบางครั้งก็มีของเหลวไหลออกมาพร้อมกับกลิ่น
กระหายน้ำมากเป็นพิเศษหรือปัสสาวะมากเกินไป
สัญญาณเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องสังเกตในสุนัขหรือแมวที่มีอายุเยอะ การดื่มน้ำมากเป็นพิเศษสามารถบ่งชี้ว่าสัตว์เลี้ยงของเรากำลังมีไข้ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน และการปัสสาวะมากเกินไปอาจบ่งบอกถึงปัญหาเกี่ยวกับไตหรือโรคเบาหวาน หรือปัสสาวะเป็นเลือดอาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ปัญหาเลือด หรือมะเร็ง
ขนร่วงผิดปกติหรือคันตามผิวหนัง
ขนร่วง หรือคันเรื้อรังอาจเกิดจากการติดเชื้อที่ผิวหนัง เห็บ หมัด หรือภูมิแพ้ สิ่งเหล่านี้อาจทำให้พวกเขารู้สึกไม่สบายอย่างมาก ให้เราตรวจดูผิวหนังสุนัขเพื่อต้นเหตุของอาการ เช่น มีรอยแดง มีของเหลวไหลออกมา บวม เจ็บปวด หรือมีกลิ่นผิดปกติหรือไม่ อาการเล็กน้อยสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการอาบน้ำ แต่รุนแรงควรพาน้อง ๆ ไปพบแพทย์
มีปัญหาในการเดินหรือขึ้นบันได
ปัญหาในการเดินหรือเดินกะเผลกอาจเกิดจากโรคข้ออักเสบ สะโพกผิดปกติ ปัญหาข้อต่อ และการติดเชื้อ เช่น โรคไลม์ หรือกระดูกหัก เบื้องต้นควรลดกิจกรรมของสัตว์เลี้ยงลงให้เหลือน้อยที่สุด หากอาการไม่รุนแรงและพฤติกรรมอื่นๆ เป็นไปตามปกติ เราอาจให้น้อง ๆ ได้พักผ่อนจากกิจกรรมอาการดังกล่าวอาจดีขึ้น
ไม่สามารถปัสสาวะหรือมีการเคลื่อนไหวของลำไส้
ภาวะปัสสาวะไม่ออกมีสาเหตุหลายประการ ตั้งแต่การอุดตันและการติดเชื้อ ไปจนถึงภาวะทางระบบประสาทและมะเร็ง อาการดังกล่าวเป็นอาการที่จำเป็นต้องพาน้องไปพบสัตวแพทย์หรือคลินิกสัตวแพทย์ฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด เพราะอาจมีสิ่งกีดขวางในกระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะของน้องซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ปัสสาวะไม่ออกนั่นเอง
มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เช่น จาม, ไอ, หอบมากเกินไป, หายใจลำบาก
อาการไอ หายใจมีเสียงหวีด หายใจลำบาก และมีน้ำมูกไหล เป็นสัญญาณของปัญหาระบบทางเดินหายใจ อาการเหล่านี้มีตั้งแต่ไข้หวัดทั่วไปไปจนถึงไข้หวัดสุนัข หากสุนัขหรือแมวของเราหายใจลำบากหรือมีสีฟ้า (เขียว) ที่ลิ้นและเหงือก ให้พิจารณาว่านี่เป็นเหตุฉุกเฉิน ควรติดตามอาการไอเป็นระยะอย่างใกล้ชิด และหากไม่หายให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์
ซึมและไม่ร่าเริงเหมือนเดิม มีพฤติกรรมก้าวร้าวที่ไม่สามารถอธิบายได้หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอื่น ๆ
เมื่อพวกเขาเจ็บปวดหรือรู้สึกไม่สบาย พวกเขามักจะแสดงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น กิจกรรมลดลงหรือเซื่องซึม สุนัขป่วยบางตัวที่โดยปกติแล้วชอบเข้าสังคมอาจเริ่มถอนตัวหรือตีตัวออกห่าง หรือปกติแล้วเป็นน้องหมาน้องแมวที่ที่ใจดีและกระตือรือร้นอาจเริ่มแสดงอาการฉุนเฉียวหรือก้าวร้าว
อาเจียนหรือท้องร่วงบ่อย
การอาเจียนหรือท้องเสียเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในการไปพบสัตวแพทย์ และมักเป็นอาการเริ่มแรกของอาการเจ็บป่วยของน้องหมาน้องแมว สัญญาณเหล่านี้อาจเกิดจากการเปลี่ยนอาหาร การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย อาการเมารถ หรือจากการกลืนสิ่งแปลกปลอมเข้าไป
ส่งเสียงผิดปกติ เช่น สะอื้น ร้องไห้ เป็นต้น
อีกหนึ่งสัญญาณความผิดปกติที่สังเกตได้ชัดเจน คือ เสียงร้องที่เปลี่ยนแปลงไป หรือส่งเสียงผิดปกติ เพราะอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าพวกเขารู้สึกไม่สบายตัวหรือกำลังเจ็บป่วย หากเราสังเกตเห็นพฤติกรรมเหล่านี้อาจเริ่มประเมินอาการหรือลองหาสาเหตุอาการบนร่างกายภายนอกก่อน หากไม่พบหรืออาการไม่ดีขึ้น ให้ปรึกษาคุณหมอเพื่อตรวจโรคและวินิจฉัยต่อไป
อาการและสัญญาณเตือนฉุกเฉิน
อาการดังต่อไปนี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าเราควรพาน้อง ๆ เข้ารับการรักษาอย่างทันที ได้แก่
- หมดสติ
- ไม่สามารถปัสสาวะได้
- ท้องเสียและ/หรืออาเจียนมากเกินไป
- อาการชัก
- หายใจลำบาก
- ไม่สามารถยืนด้วยตัวเองได้
ทำอย่างไรเมื่อสัตว์เลี้ยงของเราอยู่ในอาการฉุกเฉิน
สิ่งแรกที่เราต้องทำ คือ มีสติให้มากที่สุด ประเมินอาการและจดบันทึกอาการของสัตว์เลี้ยงเอาไว้ หากประเมินแล้วอยู่ในภาวะวิกฤตให้รีบพาน้องส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด กรณีที่น้องเกิดอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บแล้วมีเลือดออก ให้ใช้ผ้าสะอาดห้ามเลือดแล้วนำส่งโรงพยาบาล ไม่ควรให้น้อง ๆ กินอาหารหรือดื่มน้ำเพราะอาจทำให้อาการแย่ลง รักษาอุณหภูมิร่างกายของพวกเขาให้คงที่ระหว่างที่นำตัวส่งโรงพยาบาลสัตว์
เมื่อสัตว์เลี้ยงของเราได้รับการรักษาแล้ว อย่าลืมรับประทานยาตามที่สัตวแพทย์กำหนดให้ครบถ้วน คอยสังดกตพฤติกรรมและอาการของพวกเขาอย่างใกล้ชิด จดบันทึกการเปลี่ยนแปลงเพื่อแจ้งให้คุณหมอทราบสำหรับการนัดครั้งถัดไป
จริง ๆ แล้วการเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตทั้งคนและสัตว์ แม้จะดูแลพวกเขาดีแค่ไหน พวกเขาก็สามารถเจ็บป่วยได้ตามอายุขัยและสภาพร่างกายที่ร่วงโรยไปตามกาลเวลา สิ่งที่เราสามารถทำได้คือพาน้องไปตรวจสุขเป็นประจำควบคู่ไปกับการตรวจเลือด เพื่อการวินิจฉัยที่เหมาะสมกับวัยเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการป้องกันการเกิดโรคของน้อง ๆ รวมถึงควรพาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเสริมด้วยอาหารที่มีคุณภาพ เพื่อให้น้องหมาน้องแมวที่เป็นเสมือนสมาชิกในครอบครัวใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและไม่ทรมาน อยู่เล่นกับเราไปได้นาน ๆ ตลอดการมีชีวิตของพวกเขานั่นเอง